keng.blog

Random Access Memory.

ทำไมเอกสารราชการต้องใช้เลขไทย

27 May 2022

Thai numbers from 0 to 9

ของเดิมอยู่ที่ Facebook Post เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ตอนนี้กลายเป็นแคมเปญบน change.org ไปแล้ว


หนังสือราชการดิจิทัลใช้เลขไทยตั้งแต่ปี 2000

การใช้เลขไทยในเอกสารดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขเพื่อการคำนวณเป็นการขัดขวางความเจริญของงานประมวลผลเอกสารดิจิทัลด้วยคอมพิวเตอร์ 🧑‍💻 ซึ่งคงต้องได้เวลาที่รัฐจะต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงการใช้เลขไทยให้ถูกที่ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

เหตุผลการการ “ส่งเสริม” นี้ก็ไม่ได้เริ่มจากการอยากให้ใช้เลขไทยด้วย แต่เริ่มจากข้อสังเกตของ คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2543 ที่พบว่ามีการใช้ปี ค.ศ. 2000 กันแพร่หลายในหน่วยงานราชการ เช่น ไอที 2000 มหกรรมการศีกษา 2000 เขาก็เป็นห่วงกันว่า หากราชการยอมรับการใช้เลข 2000 แล้ว “…ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเอกลักษณ์ของไทยจนกลายเป็นปัญหาที่จะแก้ไขได้ยาก”

ซึ่งตอนนั้นมันปี ค.ศ. 2000 สหัสวรรษใหม่ 🎇 ใครๆ ก็ตื่นเต้นหรือเปล่าวะ…

มันเลยเป็นต้นเหตุคณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ที่จะ “กำชับ” ให้หน่วยงานใช้ พ.ศ. แทน ค.ศ. แล้วก็แทรกให้ “ส่งเสริม” การใช้เลขไทย เพราะอยาก “…อนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติและเป็นสิ่งที่ควรหวงแหน เพราะปัจจุบันภาษาที่เหลืออยู่ในโลกมีไม่มากนัก…” ซึ่งหลังจากนั้นทุกหน่วยงานก็เริ่มใช้เลขไทยในเอกสารดิจิทัล อย่างบ้าคลั่ง เห็นได้จากคำบ่นของข้าราชการท่านหนึ่งเมื่อปี 2554 🤷

ผลของการการใช้งานอย่างบ้าไม่บันยะบันยังไม่รู้กาลาเทศะนั้น ทำให้เกิดการใช้เลขไทยที่วิปริตผิดที่ผิดทางในเอกสารราชการกันเป็นอย่างมาก เช่น คำว่า ๕G, Windows ๑๐ หรือแม้กระทั่ง URL ที่ใช้งานไม่ได้จริงเช่น www.๑๒๑๒occ.com

ซึ่งในความเป็นจริง นโยบายการใช้เลขไทยไม่ได้เป็นการบังคับขึ้นอยู่กับแต่ละส่วนราชการ ดังนั้นถ้าอยากให้การประมวลผลข้อมูลดิจิทัลก้าวหน้า หน่วยงานก็เลิกใช้เลขไทยในเอกสารดิจิทัลของราชการกันเถิด 🙇

สิ่งที่น่าสนใจตอนขุดคุ้ยเรื่องนี้คือ ตอนปี 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยมีการกำหนดให้เลขสากล (เลขอาหรับ/อารบิค) เป็นเลขไทยมาแล้ว แล้วก็มาโดนยกเลิกเมื่อปี 2487 โดยนายควง อภัยวงส์ นายกรัถมนตรีในตอนนั้น

ดังนั้นการทำให้เป็นสากลไม่ใช่เรื่องใหม่เขาคิดกันมา 80 ปีแล้ว มันควรจะทำได้ เหลือแค่ต้องทำ